วันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ทิศทางเศรษฐกิจไทยในยุค AEC 2558

ประชาคมเศรษฐกิจ อาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) เป็นการรวมตัวกันทางด้านเศรษฐกิจของประเทศต่างๆในอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ประกอบด้วย 6 สมาชิกดั้งเดิมคือ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ และ 4 สมาชิกใหม่คือ ลาว พม่า เวียดนาม และกัมพูชา โดยมีเป้าหมายหลัก 4 ประการ ได้แก่

1.เป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน : มีการเคลื่อนย้ายเสรีใน 5 สาขา ได้แก่ สินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน และแรงงานฝีมือ ระหว่างประเทศสมาชิกได้อย่างเสรีมากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสในการขยายการค้าและการบริการเพิ่มขึ้น
2.สร้างเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน : โดยการร่วมมือกันในด้านต่างๆ เช่น นโยบายทางภาษี (การลดภาษี ทำให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจลดลง) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น
3.การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค : พยายามลดช่องว่างของระดับการพัฒนาของสมาชิกเก่าและสมาชิกใหม่ เช่น การสนับสนุนการพัฒนา SMEs ในภูมิภาค และ
4.การเพิ่มอำนาจการต่อรองกับเศรษฐกิจโลก : โดยเน้นการปรับและประสานนโยบายเศรษฐกิจ สร้างเครือข่ายกับประเทศภายนอกกลุ่ม เพื่อสร้างความเข้มแข็งในภูมิภาคและรองรับการแข่งขันในตลาดโลกที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม AEC เป็นเพียงส่วนหนึ่งในแผนการรวมกลุ่มเป็นประชาคมอาเซียนเท่านั้น ซึ่งการรวมตัวทางด้านเศรษฐกิจในครั้งนี้ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายอย่างเสรี ซึ่งจะช่วยเพิ่มบทบาทและความน่าสนใจของกลุ่มอาเซียนในสายตาประชาคมโลก อีกทั้งยังเพิ่มอำนาจการต่อรองในเวทีเศรษฐกิจโลกด้วยจำนวนประชากรประมาณ เกือบ 600 ล้านคน หรือคิดเป็น 8.50% ของประชากรโลก และศักยภาพในการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต

การรวมตัวทางด้านเศรษฐกิจของ AEC ไม่เข้มงวดเหมือนกับการเข้าเป็นสมาชิกในประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Community : EEC) โดยตามกรอบข้อตกลงของ AEC ไม่ได้ระบุให้ประเทศสมาชิกต้องใช้เงินสกุลเดียวกัน ประกอบกับประเทศใน AEC มีการบริหารจัดการแบบ Intra-government คือแต่ละประเทศมีอำนาจและอิสระในการกำหนดนโยบายของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง นโยบายการตั้งกำแพงภาษีกับประเทศนอกกลุ่ม AEC เป็นต้น ซึ่งแตกต่างจาก EEC ที่มีความเป็น Supra-national authority โดยทุกประเทศต้องใช้นโยบายกลาง ตัดสินใจจากหน่วยงานที่มีอำนาจจากส่วนกลาง
สิ่งที่ 6 ประเทศสมาชิกอาเซียนดั้งเดิมดำเนินการเสร็จแล้วคือการลดภาษีระหว่างกันให้ เหลือ 0-5% ขณะที่กลุ่มอาเซียนใหม่ 4 ประเทศถูกกำหนดให้ดำเนินการดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 ส่งผลให้ไทยขยายตลาดส่งออกไปประเทศในกลุ่มอาเซียนในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยมากกว่า 5% แทนการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจอ่อนแอ เช่น ประเทศในกลุ่มประเทศ G-3 โดยตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ค. 2554 สัดส่วนการส่งออกของไทยไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียน 23% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด เพิ่มมากขึ้นจากปีก่อนๆ (ปี 2553 และ 2552 เท่ากับ 22.70%, 21.3% ตามลำดับ) ขณะที่ตลาดส่งออกหลักได้แก่ กลุ่ม G-3 ลดลงเหลือ 31% (ปี 2553 และ 2552 เท่ากับ 32%, 33.16% ตามลำดับ) ทำให้การส่งออกของไทยยังคงขยายตัวแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลง

อย่างไรก็ตาม การก้าวเข้ามาอยู่ภายใต้ใบเรือของ AEC นั้นก่อให้เกิดทั้งในด้านโอกาสและความท้าทายต่อประเทศไทย ดังนั้น เพื่อที่จะทำให้สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จากการรวมกลุ่มเศรษฐกิจนี้ ภาคส่วนต่างๆจึงต้องมีการปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐบาล ซึ่งเป็นแกนนำสำคัญในการออกนโยบายหรือมาตรการต่างๆในการสร้างแรงจูงใจให้แก่ นักลงทุนต่างประเทศเพื่อเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เช่น การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล การเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางด้านการลงทุนของต่างชาติจาก BOI ภาคผู้ประกอบการ เน้นการแสวงหาตลาดใหม่ๆเพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดหรือสร้างมูลค่าเพิ่ม แทนการแข่งขันด้านราคาอย่างเดียว รวมถึงนักลงทุนต้องปรับเปลี่ยนการลงทุนของตนเองไปยังตลาดหรืออุตสาหกรรมที่ คาดว่าจะได้รับประโยชน์จาก AEC

ตัวอย่างอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจาก AEC ได้แก่ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จากการที่ไทยมีศักยภาพการแข่งขันในธุรกิจการท่องเที่ยวอยู่แล้ว ทำให้มีโอกาสใช้จุดแข็งนี้เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวพักผ่อน การจัดงานแต่งงาน การดูแลรักษาสุขภาพ โดยการยกเว้นวีซ่าสำหรับการท่องเที่ยวระยะสั้นให้แก่นักท่องเที่ยว อีกทั้งค่าบริการยังอยู่ในอัตราที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับคู่แข่ง แต่สิ่งที่ต้องปรับตัวคือการพัฒนาแรงงานในธุรกิจท่องเที่ยวให้มีความ เชี่ยวชาญทางด้านภาษาอังกฤษมากขึ้น เพื่อให้สามารถแข่งขันกับแรงงานจากประเทศอาเซียนอื่นๆที่มีความถนัดทางด้าน ภาษามากกว่า
อุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยแรงงานฝีมือ โดยเฉพาะแรงงานในกลุ่มวิชาชีพเฉพาะ เช่น แพทย์ พยาบาล วิศวกร นักกฎหมาย นักบัญชี สถาปนิก ที่มีโอกาสจะเคลื่อนย้ายตนเองเข้าไปสู่ประเทศที่มีผลตอบแทนสูงกว่าจากการที่ จะเปิดเสรีในการโยกย้ายแรงงาน โดยผู้ประกอบการที่ต้องการรักษาแรงงานฝีมือเหล่านั้นไว้จะต้องเพิ่มค่า ตอบแทนให้มากพอในการจูงใจ ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ต้นทุนของภาคธุรกิจดังกล่าวสูงขึ้น

อุตสาหกรรมที่มีการนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยปัจจุบันสินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากประเทศในกลุ่มอาเซียนคือ สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เช่น สัตว์น้ำแช่แข็ง เยื่อกระดาษ เคมีภัณฑ์ เพชร พลอย ซึ่งได้รับประโยชน์จากการทำลายกำแพงภาษีระหว่างประเทศกลุ่มสมาชิก ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตถูกลง
อุตสาหกรรมบริการด้านโทรคมนาคม ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจบริการที่ไทยต้องขยายสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุน อาเซียนเป็น 70% อาจทำให้ประเทศที่มีศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีสูงกว่า เช่น สิงคโปร์ เข้ามามีอำนาจในการจัดการอุตสาหกรรมประเภทนี้ได้
กล่าวได้ว่า การรวมตัวประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบในปี 2558 จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ดังนั้น ภาครัฐบาล ผู้ประกอบการ และนักลงทุน จึงควรศึกษาผลกระทบและร่วมมือกันในการปรับตัวเพื่อรองรับการลงเรือที่ชื่อ ว่า ASEAN ไม่ว่าจะเป็นด้านนโยบาย การพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ รวมทั้งการพัฒนาทักษะความสามารถของบุคลากรเพื่อเก็บเกี่ยวและรองรับประโยชน์ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ที่มา : หนังสือพิมพ์โลกวันนี้รายวัน ปีที่ 12 ฉบับที่ 315