วันอังคารที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2555

แนวการจัดการศึกษามาตรฐานสากล

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ขับเคลื่อนการพัฒนายกระดับโรงเรียนชั้นนำที่มีความพร้อมสู่โรงเรียนดีมี มาตรฐานสากล โดยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
(นายชินภัทร ภูมิรัตน) ได้มอบนโยบายแก่โรงเรียนในโครงการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องพร้อมกันทั่วประเทศ ผ่านการประชุมทางไกล (Tele Conference) พร้อมกับสำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย และคณะทำงานได้จัดทำแนวทางการดำเนินงานโรงเรียนมาตรฐานสากล เพื่อสื่อสารและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางและแนวทางการดำเนินงานเบื้อง ต้นให้รับทราบแล้วนั้น และเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงในการนำแนวทางไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จึงได้จัดทำเอกสาร “คู่มือแนวทางการดำเนินงานโรงเรียนมาตรฐานสากล” ขึ้นจำนวน 5 รายการ ประกอบด้วย การขับเคลื่อนกลยุทธ์ การพัฒนาหลักสูตรและการสอน การบริหารจัดการ ระบบคุณภาพ การสร้างเครือข่ายร่วมพัฒนาและการส่งเสริมศักยภาพผู้เรียนและการนิเทศเพื่อ พัฒนาการจัดการศึกษา

สภาพปัจจุบันปัญหา
............ปัจจุบัน การจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษาในประเทศไทยมีการพัฒนาหลักสูตรและการสอน ให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้เรียนในหลายรูปแบบ โดยมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายสำคัญเพื่อตอบสนองต่อความต้องการจำเป็นในการ พัฒนาประเทศให้สามารถแข่งขันและทัดเทียมนานาประเทศ ซึ่งมีหลักสูตรและการสอนที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ได้แก่
..........1. หลักสูตรและการสอนทั่วไป เป็นหลักสูตรที่ใช้ในการจัดการศึกษาให้แก่ประชากรวัยเรียนทุกคนเป็นภาษาไทย
..........2. หลักสูตรและการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ที่เรียกชื่อว่า English Program เป็นหลักสูตรที่จัดการเรียนการสอนในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้เป็นภาษาอังกฤษ ยกเว้นสาระการเรียนรู้ภาษาไทย และประวัติศาสตร์ไทย
..........3. หลักสูตรและการสอนกึ่งภาษาอังกฤษ ที่เรียกชื่อว่า IEP (Intensive English Program) หรือ ในความหมายของ IEP International Program สำหรับโรงเรียนที่ใช้หลักสูตรของ IBO (International Baccalaureate Organization) MEP (Mini English Program) เป็นหลักสูตรที่สถานศึกษามีรูปแบบที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ในหลายโรงเรียนมีการจัดการเรียนการสอนในทุกสาระการเรียนรู้เป็นภาษาไทย เน้นเพิ่มเติมจำนวนคาบเรียนวิชาภาษาอังกฤษมากขึ้น ในขณะที่โรงเรียนอื่น ๆ มีการจัดการเรียนการสอนในสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เป็นภาษาอังกฤษ และเพิ่มภาษาอังกฤษในคาบเรียนของสาระเพิ่มเติม เป็นต้น หรือ EIL (English-Intergrated Learning) เป็นการจัดการเรียนการสอน โดยบูรณาการภาษาอังกฤษ
..........4. หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพและหลักสูตรวิชาชีพ เป็นการบูรณาการหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 กับหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พุทธศักราช 2545 (ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2546) ซึ่งเมื่อผู้เรียนจบหลักสูตรจะได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาที่ต้องการและสามารถศึกษาต่อหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล

.............ต่อ มาปี พ.ศ. 2553 กระทรวงศึกษาธิการโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานดำเนินการ โครงการโรงเรียนสู่มาตรฐานสากลเพื่อยกระดับโรงเรียนให้มีการจัดการเรียนการ สอนและการบริหารระบบคุณภาพ (Quality System) มุ่งให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ (Learner Profile) เทียบเคียงมาตรฐานสากล (World Class Standard) ผู้เรียนมีศักยภาพเป็นพลโลก (World citizen)

“เป็นเลิศวิชาการ สื่อสารสองภาษา ล้ำหน้าทางความคิด ผลิตงานอย่างสร้างสรรค์ ร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคมโลก”

วันอังคารที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เป้าหมายการพัฒนาผู้เรียนตามหลักสูตรโรงเรียนมาตรฐานสากล



เป้าหมายคุณภาพผู้เรียนในการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง (Independent Study)  ครูผู้สอนจะต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับวัยและพัฒนาการของผู้เรียน กิจกรรมการเรียนรู้ ความยาก-ง่ายของชิ้นงานหรือภาระงานที่ปฏิบัติจะต้องเหมาะสม เป้าหมายคุณภาพผู้เรียนแต่ละระดับที่กำหนดนี้ เป็นเป้าหมายและกรอบทิศทางที่ครูจะใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและการประเมินผล
เป้าหมายคุณภาพผู้เรียนในการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง
คุณภาพผู้เรียน
ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
๑. การตั้งประเด็นคำถาม/สมมุติฐานอย่างมีเหตุผล (Hypothesis Formulation)
-ตั้งประเด็น/คำถามในเรื่องที่ตนสนใจโดยเริ่มจากตัวเองเชื่อมโยงกับชุมชน ท้องถิ่น ประเทศ
-ตั้งสมมุติฐานและให้เหตุผลโดยใช้ความรู้จากสาขาวิชาต่างๆ
-ตั้งประเด็น/คำถาม เกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสังคมโลก
-ตั้งสมมุติฐานและให้เหตุผลที่สนับสนุนหรือโต้แย้งประเด็นความรู้โดยใช้ความรู้จากสาขาวิชาต่างๆและมีทฤษฎีรองรับ
๒. การสืบค้นความรู้จากแหล่งเรียนรู้และสารสนเทศ หรือจากการปฏิบัติ ทดลอง (Searching for Information)
-ศึกษา ค้นคว้าแสวงหาความรู้เกี่ยวกับสมมุติฐานที่ตั้งไว้จากแหล่งเรียนรู้หลากหลาย (เช่น ห้องสมุด แหล่งเรียนรู้ทางออนไลน์ วารสาร การปฏิบัติ ทดลอง หรืออื่นๆ)
-ออกแบบ วางแผน รวบรวมข้อมูลโดยใช้กระบวนการรวบรวมข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ
-ใช้กระบวนการกลุ่มในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยใช้ความรู้จากสาขาวิชาต่างๆเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์
-ทำงานบรรลุผลตามเป้าหมาย ภายในกรอบการดำเนินงานที่กำหนดโดยการกำกับดูแลช่วยเหลือของครูอย่างต่อเนื่อง
-ศึกษา ค้นคว้า หาความรู้ ข้อมูลและสารสนเทศ โดยระบุ แหล่งเรียนรู้ ทั้งปฐมภูมิ และทุติยภูมิ
-ออกแบบ วางแผน รวบรวมข้อมูลโดยใช้กระบวนการรวบรวมข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ
-ใช้กระบวนการกลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยใช้ความรู้จากสาขาวิชาต่างๆและพิจารณาความน่าเชื่อถือของแหล่งเรียนรู้อย่างมีวิจารณญาณเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์
-ทำงานบรรลุผลตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพโดยคำแนะนำของครูที่
ให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่อง
๓. การสรุปองค์ความรู้ (Knowledge Formation)
-วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้วิธีการที่เหมาะสม
-สังเคราะห์และสรุปองค์ความรู้ อภิปรายผลและเปรียบเทียบเชื่อมโยงความรู้
-เสนอแนวคิด วิธีการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ
-อธิบายความเป็นมาของศาสตร์ หลักการและวิธีคิดในสิ่งที่ศึกษา ค้นคว้า
-วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้วิธีการที่เหมาะสม
-สังเคราะห์และสรุปองค์ความรู้ อภิปรายผล เปรียบเทียบเชื่อมโยงความรู้
-เสนอแนวคิด วิธีการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ
       
คุณภาพผู้เรียน
ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
๔. การสื่อสารและการนำเสนออย่างมีประสิทธิภาพ (Effective Communication)
-เรียบเรียงและถ่ายทอดความคิดอย่างชัดเจน เป็นระบบ
-นำเสนอในรูปแบบเดี่ยว (Oral individual) หรือกลุ่ม ( Oral panel presentation) โดยใช้สื่อประกอบหลากหลาย
-เขียนรายงานการศึกษาค้นคว้า
เชิงวิชาการความยาว ๒,๕๐๐ คำ
-อ้างอิงแหล่งความรู้ที่เชื่อถือได้อย่างหลากหลาย
-เผยแพร่ผลงานสู่สาธารณะ
-เรียบเรียงและถ่ายทอดความคิดอย่างสร้างสรรค์ เป็นระบบ
-นำเสนอในรูปแบบเดี่ยว (Oral individual) หรือกลุ่ม ( Oral panel presentation) เป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษโดยใช้สื่อเทคโนโลยีที่หลากหลาย
-เขียนรายงานการศึกษาค้นคว้า
เชิงวิชาการเป็นภาษาไทยความยาว ๔,๐๐๐ คำ หรือภาษาอังกฤษ
ความยาว ๒,๐๐๐ คำ
-อ้างอิงแหล่งความรู้ที่เชื่อถือได้ทั้งในและต่างประเทศ
-ใช้การสนทนา/วิพากษ์ผ่านสื่อ
อิเลคโทรนิค เช่น
e-conference,social media online
๕. การนำความรู้ไปใช้บริการสังคม (Public Service)
-นำความรู้ไปประยุกต์สร้างสรรค์ประโยชน์ต่อโรงเรียนและชุมชน
-เผยแพร่ความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการลงมือปฏิบัติต่อโรงเรียนและชุมชน
-นำความรู้ไปประยุกต์สร้างสรรค์ประโยชน์ต่อสังคมและโลก
-เผยแพร่ความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการลงมือปฏิบัติต่อสังคมและโลก


การจัดการเรียนการสอนโรงเรียนมาตรฐานสากล



การที่ผู้เรียนจะได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพ ย่อมต้องอาศัยหลักสูตรสถานศึกษาที่เหมาะสม คือจะต้องได้รับการออกแบบอย่างดี มีเป้าหมายและกระบวนการดำเนินงานที่เป็นระบบ ด้วยความร่วมมือของบุคลากรทุกฝ่ายในโรงเรียน หลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนมาตรฐานสากล เป็นหลักสูตรที่ใช้เป็นเป้าหมายและทิศทางในการยกระดับการจัดการศึกษาของทั้งโรงเรียน มิใช่การจัดในลักษณะของแผนการเรียนสำหรับผู้เรียนเพียงบางส่วน การออกแบบหลักสูตรจะต้องสอดคล้องกับหลักการและแนวคิดของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ ซึ่งผู้เรียนจะได้รับการพัฒนาคุณภาพบรรลุตามมาตรฐานการเรียนรู้ของกลุ่มสาระการเรียนรู้ ๘ กลุ่มสาระ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ที่กำหนดมีการพัฒนาต่อยอดคุณลักษณะที่เทียบเคียงกับสากล โดยโรงเรียนพิจารณาให้สอดคล้อง เหมาะสม กับสภาพความพร้อม และจุดเน้นของโรงเรียนซึ่งมีความแตกต่างกัน
กระบวนการพัฒนาผู้เรียนสู่คุณภาพที่คาดหวัง
                กระบวนการสำคัญในการจัดการเรียนรู้ ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็น “บันได ๕ ขั้น ของการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนมาตรฐานสากล” ได้แก่
๑. การตั้งประเด็นคำถาม/สมมุติฐาน (Hypothesis Formulation) เป็นการฝึกให้ผู้เรียนรู้จักคิด สังเกต ตั้งข้อสงสัย ตั้งคำถามอย่างมีเหตุผล
๒. การสืบค้นความรู้จากแหล่งเรียนรู้และสารสนเทศ (Searching for Information) เป็นการฝึกแสวงหาความรู้ ข้อมูล และสารสนเทศ จากแหล่งเรียนรู้อย่างหลากหลาย เช่น ห้องสมุด อินเตอร์เน็ต หรือจาการปฏิบัติทดลอง เป็นต้น
๓. การสรุปองค์ความรู้ (Knowledge Formation) เป็นการฝึกให้นำความรู้และสารสนเทศ หรือข้อมูลที่ได้จากการอภิปราย การทดลอง มาคิดวิเคราะห์สังเคราะห์ และสรุปเป็นองค์ความรู้
๔. การสื่อสารและการนำเสนออย่างมีประสิทธิภาพ (Effective Communication) เป็นการฝึกให้นำ ความรู้ที่ได้มานำเสนอและสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพให้เกิดความเข้าใจ
๕. การบริการสังคมและจิตสาธารณะ (Public Service) เป็นการนำความรู้สู่การปฏิบัติ ซึ่งผู้เรียนจะต้องมีความรู้ในบริบทรอบตัวและบริบทโลกตามวุฒิภาวะที่เหมาะสม โดยจะนำองค์ความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสร้างสรรค์


แนวทางการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนมาตรฐานสากล
                สำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้จัดทำร่างแนวทางการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนมาตรฐานสากล   โดยปรับสาระการเรียนรู้ความเป็นสากล ๔ สาระ มาเป็น การศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง (Independent Study : IS)  การจัดกระบวนการเรียนรู้ตามบันได ๕ ขั้น สามารถดำเนินการได้หลายวิธี และการให้ผู้เรียนได้ ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง “Independent Study : IS” นับเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพวิธีหนึ่งที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในการพัฒนาผู้เรียนเพราะเป็นการเปิดโลกกว้างให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้าอย่างอิสระในเรื่องหรือประเด็นที่ตนสนใจ เริ่มตั้งแต่การกำหนดประเด็นปัญหา ซึ่งอาจเป็น Public Issue และ Global Issue และดำเนินการค้นคว้าแสวงหาความรู้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย มีการวิเคราะห์ สังเคราะห์ การอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่การสรุปองค์ความรู้ จากนั้นก็หาวิธีการที่เหมาะสมในการสื่อสารนำเสนอให้ผู้อื่นได้รับทราบ และสามารถนำความรู้ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าไปทำประโยชน์แก่สาธารณะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการที่เชื่อมโยงต่อเนื่องกันตลอดแนว ภายใต้ ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง (Independent Study : IS) ซึ่งจัดแบ่งเป็นสาระการเรียนรู้ ๓ สาระ ประกอบด้วย
                IS 1        - การศึกษาค้นคว้าและสร้างองค์ความรู้ (Research and Knowledge Formation) เป็นสาระที่มุ่งให้ผู้เรียนกำหนดประเด็นปัญหา ตั้งสมมุติฐาน ค้นคว้า แสวงหาความรู้และฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และสร้างองค์ความรู้ (บันไดขั้นที่ ๑-๓)
                IS 2        -การสื่อสารและการนำเสนอ (Communication and Presentation) เป็นสาระที่มุ่งให้ผู้เรียน  นำความรู้ที่ได้รับ มาพัฒนาวิธีการถ่ายทอด/สื่อสารความหมาย/แนวคิด ข้อมูลและองค์ความรู้ ด้วยวิธีการ นำเสนอที่เหมาะสม หลากหลายรูปแบบและมีประสิทธิภาพ (บันไดขั้นที่ ๔)
                IS 3        -การนำองค์ความรู้ไปใช้บริการสังคม (Social Service Activity) เป็นสาระที่มุ่งให้ผู้เรียน นำ/ประยุกต์องค์ความรู้ไปสู่การปฏิบัติ หรือนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เกิดบริการสาธารณะ (Public Service)